โครงสร้าง ของ สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้ระบุโครงสร้างขององค์กรไว้บนหน้าเฟสบุ๊กแฟนเพจ ประกอบไปด้วยส่วนงานดังนี้

  • คณะกรรมการสมาคม
    • คณะที่ปรึกษาสมาคม
    • สำนักงานเลขาธิการ
  • คลับสเตชั่น HS0AC
  • AREC
  • JAISAT
  • สำนัก QSL
  • YOTA
  • วิเทศน์สัมพันธ์
  • การศึกษา

คลับสเตชั่น HS0AC

ภาพจากการส่งสัญญาณ SSTV โดยสถานี HS0AC เนื่องในวันวิทยุสมัครเล่นโลก พ.ศ. 2565

สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชุปถัมภ์ มีสถานีคลับสเตชั่นชื่อว่า HS0AC[2] ใช้ในการทดสอบสัญญาณ[3] การออกอากาศในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น ในวันวิทยุสมัครเล่นโลก[4] และการแข่งขันระดับประเทศ การแข่งขันระหว่างประเทศในทุกความถี่ที่อนุญาตให้นักวิทยุสมัครเล่นได้ใช้งาน อาทิ CQ World Wide VHF Contest[5], CQ World Wide WPX Contest[6] การติดต่อทางไกล (DX) รวมถึงการฝึกฝนและพัฒนาสมาชิกนักวิทยุสมัครเล่นของสมาคม

เครือข่ายอาสาสมัครสื่อสารฉุกเฉิน AREC

เครือข่ายอาสาสมัครสื่อสารฉุกเฉิน (Amateur Radio Emergency Communications: AREC) เป็นเครือข่ายในการสื่อสารของนักวิทยุสมัครเล่นในช่วงเวลาเกิดภัยพิบัติ โดยคณะกรรมการจะจัดทำแผนในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ รวมถึงเป็นตัวกลางในการประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการบรรเทาช่วยเหลือภัยพิบัติเหล่านั้น และเตรียมความพร้อมนักวิทยุสมัครเล่นให้สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้ผ่านเครือข่ายสื่อสารฉุกเฉินของวิทยุสมัครเล่น

สำหรับความถี่ฉุกเฉินในการสื่อสารสากลที่สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยเตรียมพร้อมเฝ้าฟัง ย่าน HF คือ 7.128 MHz[7] และย่าน VHF คือ 145.000 MHz[8] เรียกขานสถานี HS0AC

ดาวเทียมวิทยุสมัครเล่น JAISAT

ดาวเทียมวิทยุสมัครเล่น JAISAT ย่อมาจาก Joint Academy for Intelligent Satellites for Amateur Radio of Thailand-1[9] พัฒนาโดยวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักวิทยุสมัครเล่น ภายใต้การสนับสนุนจาก กสทช. ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดโซยุส-2 (Soyuz-2) ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เวลา 05:41:46 ตามมาตรฐานสากล (GMT)

สำหรับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการดาวเทียมวิทยุสมัครเล่นของสมาคมฯ ประกอบไปด้วยจากดำเนินการสร้างดาวเทียมวิทยุสมัครเล่นดวงต่อไป ตรวจสอบและรับรองให้กับผู้ร้องขอการใช้งานดาวเทียมเพื่อทวนสัญญาณและการสื่อสารอื่น ๆ สนับสนุนการพัฒนาด้านอวกาศและดาวเทียมให้กับนักวิทยุสมัครเล่นสมาชิกและในประเทศ

สำนักบัตรยืนยันการติดต่อ

สำนักบัตรยืนยันการติดต่อ (QSL Bureau) มีหน้าที่ในการรับส่งบัตรยืนยันการติดต่อ ตรวจสอบการติดต่อสื่อสารในการขึ้นรางวัลให้กับนักวิทยุสมัครเล่น[10] (DXCC Checker) รวมถึงการเป็นผู้ประสานงานในการแข่งขันต่าง ๆ (Contest coordinator)

Youngsters On The Air: YOTA

คณะกรรมการ Youngsters On The Air: YOTA ประเทศไทย มีหน้าที่ในการร่วมสนับสนุนเด็กและเยาวชนในการใช้งานและออกอากาศวิทยุสมัครเล่นผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันกับสถานศึกษา ให้ทดลองออกอากาศและใช้งานวิทยุสมัครเล่น รวมไปถึงการจัดสอบเพื่อเป็นพนักงานนักวิทยุสมัครเล่นร่วมกันกับสถานศึกษา เพื่อเสริมสร้างบุคลากรด้านการสื่อสารในกิจการวิทยุสมัครเล่นให้มากขึ้น

วิเทศน์สัมพันธ์

ส่วนวิเทศสัมพันธ์ มีหน้าที่ในการร่วมประชุมกับสหภาพวิทยุสมัครเล่นนานาชาติ การเทียบใบอนุญาตนักวิทยุสมัครเล่นของต่างประเทศและของไทยว่าสามารถเทียบโอนได้เท่ากับขั้นใด คลาสใด การประสานงานกับสมาคมวิทยุสมัครเล่นต่าง ๆ ในต่างประเทศ และรับเรื่องร้องเรียนในกรณีระหว่างประเทศ

การศึกษา

คณะกรรมการด้านการศึกษา จะดูแลในด้านของการฝึกอบรม การจัดสอบพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต่าง ๆ ของประเทศไทย และการสอบพนักงานวิทยุสมัครเล่นของสหรัฐอเมริกา (US Exam) เพื่อเทียบใบอนุญาต การเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ ในกิจการวิทยุสมัครเล่น สนับสนุนงานด้านวิชาการ และนวัตกรรมต่าง ๆ

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ http://e20ae.blogspot.com/2019/07/jaisat-1.html http://madoo-thai.blogspot.com/2010/10/by.html http://th.ecomeradio.com/news/2019-world-amateur-r... http://www.e21eic.net/cqvhf/cqvhf_announce2016.php http://www.qsl.net/rast http://www.tapee.ac.th/rescuesurat/vr/default.htm http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2547/D/... http://www.rast.or.th https://sites.google.com/site/orgrast/newnews/octo... https://hs7wmu.wordpress.com/2015/11/24/%E0%B8%9B%...